จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอดีตราชธานีอันรุ่งเรืองของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 1893-2310 ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเกาะเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ภายในประกอบด้วยวัดวาอารามเก่าแก่นับร้อยแห่ง พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุในสมัยอดีตให้ได้ศึกษาถึงยุคสมัยอันรุ่งเรือง ในช่วงที่อาณาจักรอยุธยาเคยเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Tips: อยุธยานั้นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 70 กิโลเมตรเท่านั้น นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวอยุธยาแบบไปเช้าเย็นกลับได้สบายทั้งทางรถยนต์ และทางรถไฟ
ในบรรดาวัตถุโบราณล้ำค่าที่พบในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ เครื่องทองถือเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่เป็นงานประณีตศิลป์อันงดงาม แสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างฝีมือ และยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยในอดีต ตลอดจนความเจริญรุ่งเรืองทางการค้ากับต่างชาติเมื่อกว่า 300-400 ปีมาแล้ว


นับจากการเริ่มต้นขุดค้นทางโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เครื่องทองที่ค้นพบไม่เคยถูกนำมาจัดแสดงรวมไว้ในที่เดียวกันมาก่อน จนเมื่อมีการสร้าง อาคารเครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อปี พ.ศ. 2565 จึงถือเป็นครั้งแรกที่จะได้ยลโฉมกรุเครื่องทองสมัยกรุงศรีฯ ที่มีจำนวนมากกว่า 2,200 รายการ โดยมีโบราณวัตถุชิ้นเด่น เช่น พระแสงขรรค์ชัยศรี พระคชาธารจำลอง จุลมงกุฎ และพระสุวรรณมาลา รวมถึงเครื่องทองบางชิ้นที่ไม่เคยนำมาจัดแสดงมาก่อน