• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to footer

Sawasdee

Sawasdee
  • Inspiration
  • Food & Drink
  • บทความภาษาไทย
  • Download Pocket Guide
  • Toggle Search
  • Instagram Facebook

บทความภาษาไทย

ปักหมุดตามรอยและชิมรสญวนถิ่นอีสาน

รู้หรือไม่ ว่างานปูนรุ่นแรกๆ ในภาคอีสาน และหมูยอที่อร่อยที่สุดในประเทศ ล้วนมีจุดกำเนิดจากชาวญวนที่อาศัยที่ประเทศไทยมาหลายทศวรรษ

อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ ที่ จ.นครพนม Shutterstock

April 7, 2023

Text: Varanyoo Intrakumhang

6 min read

Facebook LinkedIn Line Viber Pinterest Twitter Email

หลายคนมักจะนึกถึงภาคอีสานในฐานะดินแดนที่วัฒนธรรมไทยและลาวผสมผสานกันอย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทว่าความจริงแล้วภาคอีสานไทยยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันหลากหลายเชื้อชาติกว่านั้นตั้งแต่อดีต หนึ่งในนั้นคือชาว ‘ญวน’ หรือชาวเวียดนามที่อพยพย้ายถิ่นมาในหลายวาระตามเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย 

แม้ปัจจุบันนี้ทั้งชาว ‘ญวนเก่า’ และชาว ‘ญวนใหม่’ ที่อพยพเข้ามาทั้งช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะกลมกลืนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามกันไปหมดแล้ว แต่ในภาคอีสานก็ยังมีร่องรอยของชาวญวนอพยพเหล่านี้ปรากฎอยู่ทั่วไป ทั้งในเชิงของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่หลงเหลือ และวัฒนธรรมการกินอยู่ที่ผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน เราจึงอยากชวนทุกคนเดินทางท่องเที่ยวตามรอยพร้อมชิมรสอาหารญวนในถิ่นอีสานแห่งนี้ 

ว่ากันว่า​ หมูยอในไทยมีแหล่งกำเนิดที่เมืองอุบลเป็นที่แรก​ เป็นอาหารที่ชาวเวียดนามชำนาญผลิตมานานหลายทศวรรษ Shutterstock

“ส่วนมากคนเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ในอุบลฯ มักจะมาจากเวียดนามกลางอย่าง
ฮาติ่งห์ และกว๋างบิ่ญ อพยพผ่านมาทางลาว เข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย” สมบูรณ์ สิริธนกิจถาวร ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมคนไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุบลราชธานี และทายาทรุ่นที่สองของชาวญวนใหม่ ได้เคยเล่าเอาไว้เช่นนั้น “ทั้งผู้อพยพและคนไทยเชื้อสายเวียดนามต่างก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างและพัฒนาเมืองอุบลฯ ด้วยกันทั้งนั้น” 

ความจริงแล้วอุบลฯ เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่เฉพาะของชาวเวียดนามอพยพ ตามนโยบายอดีตรัฐไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งนอกจากกำหนดให้ชาวเวียดนามอพยพจำเป็นต้องอาศัยในพื้นดังกล่าวเท่านั้น ยังจำกัดอาชีพที่สามารถทำได้อีกด้วย แต่อาชีพที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวญวนที่สร้างมรดกตกทอดปรากฎร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้คือ
สถาปัตกรรมช่างสกุลญวน ซึ่งถือเป็นสีสันของงานช่างอีสานเลยก็ว่าได้ 

สถาปัตยกรรมเก่าแก่…มรดกจากช่างญวน 

“ศิลปะอีสานไม่ได้มีแค่การผสมผสานระหว่างไทยกับลาวแค่นั้น แต่ยังมีกลิ่นอายร่วมของวัฒนธรรมอื่นอย่างชาวเวียดนามที่หนีภัยสงครามเข้ามา และเป็นผู้รับเหมายุคแรกของภาคอีสานที่เข้ามามีส่วนแบ่งในงานช่าง โดยงานปูนของอีสานยุคแรกๆ ก็เป็นชาวญวนที่เข้ามานำสร้าง มีความโดดเด่นคือส่วนผสมของจีนกับตะวันตกซึ่งก็คือฝรั่งเศส ผสมกับรายละเอียดแบบอีสาน ” 

อ.ติ๊ก แสนบุญ แห่งคณะศิลปะศาสตร์ประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง วัดราษฎร์ประดิษฐ์ จ.อุบลราชธานี ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนซึ่งช่างชาวเวียดนามนำทั้งอิทธิพลและวิทยาการที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส บวกเข้ากับรสนิยมที่ติดตัวมาเสริมเข้ากับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เกิดเป็นรูปแบบศิลปะที่ผสมผสานเป็นเอกลักษณ์ อุโบสถของวัดแห่งนี้ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2478 มีจุดเด่นที่งดงามแปลกตาบ่งบอกความเป็นญวนคือลวดลายหน้าบันที่เป็นรูปคล้ายมังกรพ่นน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ อย่างเสาหรือซุ้มประตูโค้งหรือหน้าต่างเจาะของทั้งอุโบสถและศาลาการเปรียญที่มีกลิ่นอายตะวันตกในยุคเวียดนามโคโลเนียลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของชาวอีสานยุคนั้น ที่เปิดกว้างให้ช่างญวนแสดงออกถึงเชิงช่างได้อย่างเต็มที่

วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ที่ จ.อุบลราชธานี Photos: งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นอกจากนี้เรายังสามารถพบเห็นลักษณะของศิลปะญวนซ่อนอยู่ในรายละเอียดต่างๆ ของวัดเก่าแก่อีกหลายแห่งทั่วภาคอีสาน อาทิ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ใน จ.อุบลราชธานี หรือที่ จ.อุดรธานี ก็มีสิม (โบสถ์) ญวนอีสานอยู่ด้วยกันหลายแห่ง เฉพาะที่ อ.บ้านผือ ก็มีด้วยกันไม่น้อยกว่า 6 แห่ง เช่น วัดมงคลนิมิตร วัดโพธิชัยศรี วัดจันทราราม วัดโคธาราม วัดวันทนียวิหาร วัดสว่างบ้านผักบุ้ง ฯลฯ ส่วนที่ขอนแก่นเองก็มีสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม ที่โดดเด่นด้วยซุ้มโค้งแบบช่างญวน กับฮูปแต้มเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและกลอนสินไซ แต่ละแห่งมีการผสานอิทธิพลและรสนิยมเชิงช่างลงไปอย่างกลมกลืน

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี สถาปัตยกรรมศิลปะไทย ญวน และฝรั่งเศส Shutterstock

ไม่ใช่เพียงแค่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ช่างญวนและผู้อพยพชาวเวียดนามในยุคอาณานิคมซึ่งส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ยังได้สร้างโบสถ์คริสเอาไว้หลายแห่ง และบางแห่งยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ หรือจะเป็นจวนผู้ว่าหลังเก่า ของจังหวัดนครพนมซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว และบ้านโบราณหลายแห่งในตำบลแร่จังหวัดสกลนคร ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของสถาปัตยกรรมศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เปี่ยมเสน่ห์โดยฝีมือของช่างญวนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ซึ่งสวยงามควรค่าแก่การเดินทางเที่ยวชมตามรอย 

บ้านโบราณ องเลื่อง โสรินทร์ และ คฤหาสน์ อุดมเดชวัฒน์ ที่ จ.สกลนคร สถาปัตยกรรมโบราณฝีมือช่างเวียดนามอพยพ

สถานที่สำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ญวน

ไม่เพียงโบราณสถานที่เป็นมรดกตกทอดจากช่างญวนเท่านั้น ในภาคอีสานยังมีสถานที่สำคัญที่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนามอพยพ รวมถึงอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นใหม่ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ไทย-ญวน โดยแหล่งสำคัญๆ มีให้เราแวะไปเที่ยวชมได้ อาทิ แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ ของจังหวัดอุดรธานี 

แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวโฮจิมินห์ จ.อุดรธานี ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักของ ‘ลุงโฮ’ หรืออดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ผู้นำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม Photos: Shutterstock

ครั้งหนึ่งที่นี่เคยเป็นที่พักของ ‘ลุงโฮ’ หรืออดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2471 ได้เดินทางเข้ามาอาศัยใน จ.อุดรฯ เพื่อดำเนินงานการเมืองต่อสู้เรียกร้องเอกราชของเวียดนามจากฝรั่งเศส ท่านได้สร้างบ้าน ทำเกษตรกรรม ฝึกอบรมให้ผู้ติดตามต่อสู้จนได้รับเอกราช ภายหลังลูกหลานชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้รวบรวมเงินซื้อที่ดินประวัติศาสตร์แปลงนี้ไว้ แล้วมอบให้ทาง จ.อุดรธานี จัดสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่จำลองบรรยากาศบ้านพักของลุงโฮในสมัยนั้นเอาไว้ ทั้งยังมีนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของลุงโฮในเมืองไทยและจังหวัดอุดรฯ จัดแสดงอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม หมู่บ้านเก่าแก่อีกแห่งที่อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์เคยมาใช้ชีวิต เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย Photos: Shutterstock

ส่วนที่จังหวัดนครพนมก็มี อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ หรือ พิพิธภัณฑ์หมู่บ้านมิตรภาพไทย – เวียดนาม บ้านลุงโฮ หมู่บ้านเก่าแก่อีกแห่งที่อดีตประธานาธิบดี
โฮจิมินห์เคยมาใช้ชีวิต เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ที่นี่เป็นฐานทำการกอบกู้เอกราชให้กับเวียดนามอีกแห่ง ลุงโฮได้อยู่ที่บ้านหลังนี้นานถึง 7 ปี
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ของลุงโฮ นอกจากรูปเคารพของลุงโฮแล้วยังมีการจำลองอนุรักษ์บรรยากาศสมัยนั้นเอาไว้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวเวียดนามที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนิยมเยี่ยมชม รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์วีรกรรมของรัฐบุรุษชาวเวียดนามผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้  

วัดเสาเดียวเป็นอีกจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามของขอนแก่น Shutterstock

ด้านจังหวัดใหญ่ใจกลางภาคอีสานอย่างขอนแก่น บริเวณริมบึงแก่นนครก็เป็นที่ตั้งของ วัดเสาเดียว อาคารปฏิมากรรมจำลองแบบวัดเสาเดียวอันสวยงามในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงมิตรภาพอันดีงามระหว่างไทยและเวียดนาม เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ภายในประดิษฐานรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิม หลังคาประดับรูปปั้นมังกรสองตัวชมจันทร์ เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งริมบึงแก่นนคร 

ชิมอาหารญวนทั่วถิ่นอีสาน

นอกจากสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ไทย – ญวนแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกอย่างหนึ่งที่อยู่แวดล้อมและได้ผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวอีสานจวบจนปัจจุบันอย่างแยกไม่ออก คือวัฒนธรรมอาหารการกิน ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นมากๆ ก็คือก๋วยจั๊บญวน

ในจังหวัดอุบลราชธานี มีร้านก๋วยจั๊บอยู่มากพอๆ กับร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านกาแฟ Shutterstock

นิตินันท์ “นิว” มังคลา เจ้าของร้านอาหารญวนชื่อดังแห่งเมืองอุบลฯ อากาเว่ เล่าให้เราฟังว่า “เมืองอุบลฯ เป็นเมืองที่มีร้านก๋วยจั๊บอยู่เยอะพอๆ กับร้านกาแฟเลยก็ว่าได้ และแทบทุกร้านก็ขายดีเหมือนกันหมด อย่างผมเองก็กินก๋วยจั๊บมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ด้วยความที่ตัวผมเองไม่ได้มีเชื้อสายเวียดนาม ก็เพิ่งมารู้ตอนโตที่เราได้ศึกษาอะไรเยอะขึ้นว่าเป็นอาหารที่มาจากชาวญวนอพยพ เช่นเดียวกับอาหารเวียดนามอื่นๆ อย่าง หมูยอ ข้าวเกรียบปากหม้อ ป่อเปี๊ยะทอด แหนมเนือง ฯลฯ”

ไข่กระทะหมูยอ ขนมปังญวน เป็นอาหารเช้าที่พบเห็นได้ทั่วไปซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม Shutterstock

นิตินันท์ ในวัย 33 ปี  เป็นชาวอุบลฯ โดยกำเนิด เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ต่างถิ่น จนในที่สุดก็ตัดสินใจย้ายกลับมาปักหลักยังบ้านเกิดและทำธุรกิจร้านอาหาร เริ่มแรกร้าน
อากาเว่ ของเขาให้บริการอาหารสไตล์อิตาเลี่ยนฟิวชั่นที่ลองนำวัตถุดิบเด่นในท้องถิ่นภายในอุบลฯ มาสร้างสรรค์เป็นเมนู ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอควร แต่ด้วยความตั้งใจเดิมที่ต้องการจะสนับสนุนผู้ผลิตวัตถุดิบภายในท้องถิ่นและการสื่อสารที่ชัดเจนขึ้นกับลูกค้า จึงเปลี่ยนแนวร้านมาลงตัวที่อาหารเวียดนามในสไตล์คาเฟ่ ด้วยความที่เขาเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีเชื้อสายเวียดนาม จึงไม่ได้ยึดติดกับรสชาติเวียดนามดั้งเดิมแท้ๆ แต่เรียกว่าเป็นอาหารเวียดนามตำรับอุบลฯ เน้นอร่อยถูกปากคนท้องถิ่น บางเมนูได้มีการทวิสต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรสนิยมของยุคสมัยและเป็นเอกลักษณ์ของทางร้านเอง จนทุกวันนี้ร้านอากาเว่เป็นหนึ่งในร้านอาหารเวียดนามอีกหลายๆ ร้านที่ติดอยู่ในลิสต์ของมิชลินไกด์ซึ่งเพิ่งขยายพื้นที่มาถึงอีสานไม่นานมานี้ นอกจากนี้อุบลฯ ยังมีร้านอาหารเวียดนามชื่อดังอย่าง ปากหม้อโรบอท และ อินโดจีน ที่ติดอยู่ในลิสต์ของ
มิชลินไกด์ด้วยเช่นกัน 

ก๋วยจั๊บเส้นปลา แหนมเนือง และขนมถ้วย อาหารเวียดนาม ในแบบของร้านอากาเว่ในอุบลราชธานี

ไม่ใช่แค่เมืองอุบลฯ ซึ่งว่ากันว่าเป็นแหล่งกำเนิดแรกของหมูยอในประเทศไทยเท่านั้น แทบทุกจังหวัดกระทั่งอำเภอทั่วภาคอีสานยังมีร้านอาหารเวียดนามทั้งที่เก่าแก่หลายสิบปี และร้านใหม่ๆ ชื่อดัง อย่างอุดรธานีก็มีร้านเอมโอชที่ขายอาหารเช้าสไตล์ไทย-เวียดนามเสิร์ฟไข่กระทะและขนมปังเวียดนาม อรุณีแหนมเนือง วีทีแหนมเนือง ข้าวเปียดอุดร ที่เป็นร้านเก่าแก่และติดอยู่ในมิชลินไกด์ รวมถึงร้านสไตล์คาเฟ่เรโทร อย่างมาดามพาเท่ห์ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง 5 สัญชาติ ทั้งเวียดนาม ไทย ลาว ฝรั่งเศส และจีน หรือที่ขอนแก่นเองนอกจากจะมีร้านอาหารเวียดนามอยู่ทั่วเมือง รวมถึงร้านอัมพรแหนมเนืองที่อร่อยเด็ดเปิดขายมานานหลายสิบปี จังหวัดขอนแก่นก็ยังเด่นในเรื่องของ ‘โจ๊ก จั๊บ เส้น’ ซึ่งนิยมกินเป็นทั้งอาหารเช้าและอาหารเย็นก็เป็นพัฒนาการที่ได้รับอิทธิพลจากญวนด้วย สังเกตได้จากร้านเก่าแก่หลายร้านมักจะขายทั้งป่อเปี๊ยะ ข้าวเกรียบปากหม้อ ฯลฯ ร่วมด้วย 

ปากหม้อญวนนั้นหารับประทานได้ทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วอีสาน Shutterstock

ไม่เพียงแต่สถานที่สำคัญตามหัวเมืองจังหวัดใหญ่ๆ ที่กล่าวมาเท่านั้น ตามหัวมุมตึกแถวเก่าแก่ ในย่านการค้า ของอำเภอและจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้งภาคอีสาน ก็อาจยังมีกลิ่นอายและรสชาติของผู้อพยพชาวเวียดนาม ที่ส่งต่อผ่านวันเวลาผสานจนกลายเป็นเนื้อเดียวอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนอีสานแห่งนี้…รอให้ทุกคนได้ออกเดินทางไปเที่ยวชมสัมผัสและชิมรส

ร่วมออกเดินทางเพื่อค้นหาประสบการณ์ตามรอยและชิมรสญวนถิ่นอีสาน จองเที่ยวบินไปอุบลฯ อุดรฯ และขอนแก่น หรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานได้เลยกับการบินไทยและไทยสมายล์ 

Latest Stories

Food & Drink

Get caffeinated and take pictures at these 5 beautiful cafés in Seoul

Food & Drink

To understand the culture of Phuket, slurp a bowl of mee hokkien

Food & Drink

Hong Kong’s growing love for plant-based milk

Footer

About Us

  • Our website
  • Advertise with us
  • User agreement
  • Terms and conditions
  • Privacy policy
  • Cookie policy
Thai Airways

Social

  • Facebook
  • Instagram

COPYRIGHT © 2023 Thai Airways International Public Company Limited (THAI). All rights reserved.

A Star Alliance Member
Sawasdee
  • Inspiration
  • Food & Drink
  • บทความภาษาไทย
  • Download Pocket Guide
  • Toggle Search
  • Instagram Facebook
BOOK FLIGHTS NOW