อาจกล่าวได้ว่าคุณยังมาไม่ถึงลอนดอนจริงๆ หากไม่ได้ไปดูละครเวทีสักเรื่องก่อนกลับ อาจจะไปหลังจากไปเดินช็อปปิ้งที่ถนนออกซ์ฟอร์ดหรือทานอาหารจีนที่ไชน่าทาวน์ ละครเวทีเป็นเอกลักษณ์และส่วนประกอบสำคัญของสังคมอังกฤษมาช้านานแล้ว ในลักษณะเดียวกันกับย่านบรอดเวย์ของนิวยอร์ก ย่านเวสต์เอนด์ที่ใจกลางลอนดอนถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางธุรกิจโรงละครของโลกตะวันตกที่คนใช้ภาษาอังกฤษกันอีกแห่ง โดยหลายคนนิยมที่จะไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารแถวนั้นก่อนดูละครในตอนค่ำ แม้ว่าโรงละครบางแห่งจะสลับเปลี่ยนเอาละครใหม่ๆ มาจัดแสดงหลายเรื่องต่อปี แต่ละครบางเรื่องก็ถูกนำมาจัดแสดงต่อเนื่องมาหลายทศวรรษติดต่อกันแล้ว อาทิ The Mousetrap ที่จัดแสดงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ถึงอย่างไรก็ตาม เมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักรแห่งนี้ไม่ได้มีตัวเลือกจำกัดอยู่แค่ละครเวสต์เอนด์ดังๆ อย่างเช่น Les Miserables, The Phantom of the Opera หรือ Harry Potter and the Cursed Child เท่านั้น
มาลอนดอนรอบนี้เราอยากให้คุณได้ลองไปชมโชว์ใหม่ๆ 5 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นละครที่ดัดแปลงจากภาพยนตร์แอนิเมชันดังของญี่ปุ่น, คอนเสิร์ตวงตำนานยุค 70 ที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง ไปจนถึงละครเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบุรุษผู้เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก
1. My Neighbour Totoro
กว่าสองทศวรรษผ่านไปหลังสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) บริษัทผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันระดับตำนานของญี่ปุ่น สร้างผลงานสุดซึ้งและแสนประทับใจอย่าง My Neighbour Totoro หรือ โทโทโร่เพื่อนรัก ออกสู่สายตาสาธารณชน นี่เป็นครั้งแรกที่แฟนๆ จะได้เห็นเจ้าโทโทโร่แบบ “ตัวเป็นๆ” ในรูปแบบละครเวทีแบบที่ไม่เคยทำที่ไหนมาก่อนโดย Royal Shakespeare Company (RSC)
ละครเวทีเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างสองพี่น้อง ซัตสึกิและเมย์ กับ
โทโทโร่ วิญญาณผู้พิทักษ์ตัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าใกล้บ้านในชนบทที่พวกเธอเพิ่งย้ายมาอยู่ ผู้กำกับ เฟเลม แม็คเดอร์มอตต์ ทำให้ตัวละครน่ามหัศจรรย์มากๆ ไม่ว่าจะเป็น
ซึซึวาตาริ วิญญาณขนาดเล็กก้อนกลมสีดำ, รถบัสแมว ไปจนถึงตัวละครเอกอย่าง
โทโทโร่ ซึ่งมีชีวิตขึ้นมาบนเวทีด้วยศิลปะการเชิดหุ่นกระบอกและการออกแบบฉากที่แสนจะลื่นไหล น่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ลายเส้นและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของสตูดิโอ
จิบลิ
อีกสิ่งหนึ่งที่จะทำให้แฟนตัวยงหายห่วงได้แน่นอนคือละครเวทีเรื่องนี้ได้ โจ ฮิซาอิชิ นักแต่งเพลงประกอบของภาพยนตร์ต้นฉบับมารับผิดชอบเรื่องดนตรีซึ่งจะแสดงสดบนเวทีด้วย
– My Neighbour Totoro จัดแสดงถึงวันที่ 21 ม.ค. 2566 ที่ Barbican Centre
2. ABBA Voyage
ละครเวทีหรือคอนเสิร์ต? การแสดงสดหรือเทปบันทึกการแสดง? หลายคนที่มีโอกาสได้ไปดู ABBA Voyage มาแล้วอาจบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการแสดงชุดนี้เป็นทุกอย่างพร้อมๆ กัน
แม้สมาชิกวง ABBA จะไม่ได้มาปรากฏตัวจริงๆ ที่ลอนดอน เทคโนโลยีสามมิติสุดล้ำโดยบริษัทเดียวกันกับที่สร้างภาพยนตร์อย่าง Star Wars และผลงานของค่าย Marvel จะทำให้คนดูรู้สึกว่าได้ชมสมาชิกวงระดับตำนานจากสวีเดนแสดงแบบสดๆ บนเวทีอีกครั้ง
ABBA ในรูปแบบ “อวาตาร์” (หรือที่ ABBA ตั้งชื่อให้ตัวเองว่า “ABBA-tars”) เป็นผลลัพธ์จากการผสมผสานการเคลื่อนไหวของสมาชิกวงในปัจจุบันเข้ากับตัวตนของพวกเขาในอดีตตอนที่โด่งดังที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม และเสียงร้อง สถานที่จัดแสดง ABBA Arena ซึ่งจุคนได้ถึง 3,000 คน ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ โดยไฟที่เคลื่อนไหวได้ 500 ดวง พร้อมลำโพง 291 ตัว จะพาผู้ชมย้อนเวลากลับสู่ยุค 70 อีกครั้ง
แน่นอนว่าตลอดการแสดง 90 นาที เหล่า “ABBA-tars” พร้อมวงดนตรีสด จะขนเพลงฮิตมาร้องให้ฟังกันอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็น Mamma Mia, Chiquitita, Waterloo รวมถึงเพลงจากอัลบั้มใหม่ล่าสุด Voyage ด้วย