จากกลิ่นหอมของเครื่องแต่งกายหญิงสาวชาววัง สู่ของที่ระลึกในงานพิธีมงคลต่าง ๆ รวมถึงเป็นเครื่องหอมในพิธีรดน้ำดำหัว หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บุหงารำไปจึงเป็นกลิ่นหอมที่สะท้อนถึงประเพณีไทยมาแต่โบราณ และเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับวัฒนธรรมกลิ่นหอมของไทยได้อย่างลุ่มลึก
ความหมายและที่มาของ ‘บุหงารำไป’
บุหงารำไป เป็นเครื่องหอมของชาววังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการกล่าวถึงเครื่องหอมชนิดนี้ไว้ในกาพย์เห่เรือ: บทเห่ชมไม้ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) โดยคำว่า ‘บุหงา’ หมายถึง ‘ดอกไม้’ ส่วน ‘รำไป’ หมายถึง ‘เบ็ดเตล็ด หรือหลายชนิด’ เมื่อนำมารวมกันหมายถึง ดอกไม้หลากหลายชนิดที่นำมาผสมผสานเข้าด้วยกัน ทั้งยังสื่อถึงความหลากหลายและความงดงามของธรรมชาติ
บุหงารำไป ประดิษฐ์จากกลีบดอกไม้หอม อาทิ มะลิ พิกุล กระดังงาไทย กุหลาบมอญ ฯลฯ โดยการปรุงบุหงาเริ่มนิยมในราชสำนักไทย จนสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคทองของเครื่องหอมไทย จากที่เคยเป็นเครื่องหอมของชาววังก็ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทั่วไปเช่นกัน บุหงารำไปกลายเป็นของชำร่วย หรือของที่ระลึกในงานพิธีมงคลต่าง ๆ อย่างงานฉลองครบรอบวันเกิดเชื้อพระวงศ์และเจ้านายชั้นสูง ซึ่งแต่ละวังต่างก็มีเคล็ดลับในการปรุงกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป นั่นทำให้บุหงารำไปแบบชาววังยังคงเป็นเทคนิคขั้นสูง ที่ใช้ในการปรุงกลิ่นหอมที่มีเสน่ห์ลึกลับมาจนถึงปัจจุบัน