ผีตาโขน คือการละเล่นในประเพณีบุญหลวงของชาวไทเลย ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มาพร้อมกับเรื่องเล่าขานตำนานความเชื่อเรื่อง “ผี” ในพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อนจนกลายมาเป็น “ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” ที่โด่งดัง ชวนให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวและสัมผัสประเพณีประจำปีนี้กันอย่างต่อเนื่อง
ตำนานพื้นบ้าน “ผีตาโขน”
เรื่องเล่า “ผีตาโขน” มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นตั้งแต่มีการจัดงาน “บุญหลวง” หรือ “บุญผะเหวด” ที่เป็นงานบุญพระเวสสันดรและงานบุญบั้งไฟมารวมกัน เชื่อกันว่า “ผีตาโขน” มาจากคำว่า “ผีตามคน” เข้ามาขออาหาร ขอส่วนบุญในเมืองมนุษย์ ทำการเล่นหยอกล้อกับผู้คน ขอข้าวปลาอาหารแล้วก็จะพากันกลับไปยังถิ่นอาศัยของตน

ขบวนแห่ผีตาโขนและศิลปวัฒนธรรมหนึ่งเดียว
การละเล่นผีตาโขน จะจัดขึ้นในเดือน 7 (ประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม) ของทุกปี ณ วัดโพนชัย เป็นเวลา 3 วัน โดยการละเล่นผีตาโขน สามารถเล่นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นผู้ชายมากกว่า เนื่องจากการละเล่นค่อนข้างผาดโผน และทะลึ่งซุกซน โดยผู้เข้าร่วมในพิธีจะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจ ใส่หน้ากากขนาดใหญ่ทำจากกาบมะพร้าวที่สลักด้วยลวดลายงดงามแตกต่างกันไป พร้อมแสดงการละเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนานในขบวนแห่ เชื่อกันว่าผู้ใดใส่หน้ากากผีตาโขนจะหายทุกข์ หายโศก หายโรคภัย มีความสุขความเจริญ และสร้างความสนุกสนานอีกด้วย

ในสมัยโบราณคนที่เล่นเป็นผีตาโขนต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน เพื่อถือเป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้าย ห้ามนำเครื่องแต่งกายใด ๆ กลับบ้านเด็ดขาด แต่ปัจจุบันการละเล่นผีตาโขนเปลี่ยนแปลงไปจากยุคดั้งเดิม ในอดีตหน้ากากจะทำจากหวดเก่า (ภาชนะจักสานสำหรับใช้นึ่งข้าวเหนียว) ที่ใช้งานแล้ว ตกแต่งด้วยสีธรรมชาติ ดูเรียบง่าย แต่เน้นความลึกลับและน่ากลัว มาในยุคนี้ หน้ากากถูกปรับให้มีสีสันสดใส มีลวดลายไทย และใช้วัสดุที่คงทนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผีตาโขนเป็นประเพณีที่ไม่เพียงแต่รักษาความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิม แต่ยังสร้างเสน่ห์ให้มีชีวิตชีวาในศิลปะท้องถิ่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

กิจกรรมในแต่ละวัน
- วันแรกของขบวนแห่ เหล่าผีตาโขนจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมขบวนแห่พระอุปคุตจากท่าน้ำ ลำน้ำหมัน มาประดิษฐานที่วัดโพนชัย
- วันที่สองเป็นพิธีแห่พระเวสที่เหล่าผีตาโขนและชาวบ้านเดินตามขบวนแห่พระเวสสันดรไปรอบเมืองก่อนตะวันตกดิน
- วันที่สามเป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำปีต่าง ๆ ของปีมาจัดพร้อมกันในงานบุญหลวง ซึ่งประชาชนจะมาร่วมนั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างกุศลและสิริมงคลแก่ชีวิต

อยากไปเที่ยวเทศกาลผีตาโขน บินไปลงอุดรธานีกับการบินไทยได้เลย