หลายคนมักจะนึกถึงภาคอีสานในฐานะดินแดนที่วัฒนธรรมไทยและลาวผสมผสานกันอย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทว่าความจริงแล้วภาคอีสานไทยยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันหลากหลายเชื้อชาติกว่านั้นตั้งแต่อดีต หนึ่งในนั้นคือชาว ‘ญวน’ หรือชาวเวียดนามที่อพยพย้ายถิ่นมาในหลายวาระตามเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย
แม้ปัจจุบันนี้ทั้งชาว ‘ญวนเก่า’ และชาว ‘ญวนใหม่’ ที่อพยพเข้ามาทั้งช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะกลมกลืนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนามกันไปหมดแล้ว แต่ในภาคอีสานก็ยังมีร่องรอยของชาวญวนอพยพเหล่านี้ปรากฎอยู่ทั่วไป ทั้งในเชิงของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่หลงเหลือ และวัฒนธรรมการกินอยู่ที่ผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน เราจึงอยากชวนทุกคนเดินทางท่องเที่ยวตามรอยพร้อมชิมรสอาหารญวนในถิ่นอีสานแห่งนี้
“ส่วนมากคนเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ในอุบลฯ มักจะมาจากเวียดนามกลางอย่าง
ฮาติ่งห์ และกว๋างบิ่ญ อพยพผ่านมาทางลาว เข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย” สมบูรณ์ สิริธนกิจถาวร ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคมคนไทยเชื้อสายเวียดนามจังหวัดอุบลราชธานี และทายาทรุ่นที่สองของชาวญวนใหม่ ได้เคยเล่าเอาไว้เช่นนั้น “ทั้งผู้อพยพและคนไทยเชื้อสายเวียดนามต่างก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างและพัฒนาเมืองอุบลฯ ด้วยกันทั้งนั้น”
ความจริงแล้วอุบลฯ เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายจังหวัดทั่วภาคอีสาน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่อยู่เฉพาะของชาวเวียดนามอพยพ ตามนโยบายอดีตรัฐไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งนอกจากกำหนดให้ชาวเวียดนามอพยพจำเป็นต้องอาศัยในพื้นดังกล่าวเท่านั้น ยังจำกัดอาชีพที่สามารถทำได้อีกด้วย แต่อาชีพที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวญวนที่สร้างมรดกตกทอดปรากฎร่องรอยมาจนถึงทุกวันนี้คือ
สถาปัตกรรมช่างสกุลญวน ซึ่งถือเป็นสีสันของงานช่างอีสานเลยก็ว่าได้
สถาปัตยกรรมเก่าแก่…มรดกจากช่างญวน
“ศิลปะอีสานไม่ได้มีแค่การผสมผสานระหว่างไทยกับลาวแค่นั้น แต่ยังมีกลิ่นอายร่วมของวัฒนธรรมอื่นอย่างชาวเวียดนามที่หนีภัยสงครามเข้ามา และเป็นผู้รับเหมายุคแรกของภาคอีสานที่เข้ามามีส่วนแบ่งในงานช่าง โดยงานปูนของอีสานยุคแรกๆ ก็เป็นชาวญวนที่เข้ามานำสร้าง มีความโดดเด่นคือส่วนผสมของจีนกับตะวันตกซึ่งก็คือฝรั่งเศส ผสมกับรายละเอียดแบบอีสาน ”
อ.ติ๊ก แสนบุญ แห่งคณะศิลปะศาสตร์ประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง วัดราษฎร์ประดิษฐ์ จ.อุบลราชธานี ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนซึ่งช่างชาวเวียดนามนำทั้งอิทธิพลและวิทยาการที่ได้รับมาจากฝรั่งเศส บวกเข้ากับรสนิยมที่ติดตัวมาเสริมเข้ากับลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น เกิดเป็นรูปแบบศิลปะที่ผสมผสานเป็นเอกลักษณ์ อุโบสถของวัดแห่งนี้ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2478 มีจุดเด่นที่งดงามแปลกตาบ่งบอกความเป็นญวนคือลวดลายหน้าบันที่เป็นรูปคล้ายมังกรพ่นน้ำ นอกจากนี้ยังรวมถึงรายละเอียดอื่นๆ อย่างเสาหรือซุ้มประตูโค้งหรือหน้าต่างเจาะของทั้งอุโบสถและศาลาการเปรียญที่มีกลิ่นอายตะวันตกในยุคเวียดนามโคโลเนียลอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของชาวอีสานยุคนั้น ที่เปิดกว้างให้ช่างญวนแสดงออกถึงเชิงช่างได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้เรายังสามารถพบเห็นลักษณะของศิลปะญวนซ่อนอยู่ในรายละเอียดต่างๆ ของวัดเก่าแก่อีกหลายแห่งทั่วภาคอีสาน อาทิ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ใน จ.อุบลราชธานี หรือที่ จ.อุดรธานี ก็มีสิม (โบสถ์) ญวนอีสานอยู่ด้วยกันหลายแห่ง เฉพาะที่ อ.บ้านผือ ก็มีด้วยกันไม่น้อยกว่า 6 แห่ง เช่น วัดมงคลนิมิตร วัดโพธิชัยศรี วัดจันทราราม วัดโคธาราม วัดวันทนียวิหาร วัดสว่างบ้านผักบุ้ง ฯลฯ ส่วนที่ขอนแก่นเองก็มีสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม ที่โดดเด่นด้วยซุ้มโค้งแบบช่างญวน กับฮูปแต้มเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและกลอนสินไซ แต่ละแห่งมีการผสานอิทธิพลและรสนิยมเชิงช่างลงไปอย่างกลมกลืน
ไม่ใช่เพียงแค่วัดในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ช่างญวนและผู้อพยพชาวเวียดนามในยุคอาณานิคมซึ่งส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์ยังได้สร้างโบสถ์คริสเอาไว้หลายแห่ง และบางแห่งยังหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ หรือจะเป็นจวนผู้ว่าหลังเก่า ของจังหวัดนครพนมซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว และบ้านโบราณหลายแห่งในตำบลแร่จังหวัดสกลนคร ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของสถาปัตยกรรมศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เปี่ยมเสน่ห์โดยฝีมือของช่างญวนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ซึ่งสวยงามควรค่าแก่การเดินทางเที่ยวชมตามรอย