การทอผ้านั้นเป็นวัฒนธรรมที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน ในประเทศไทย ในอดีตมีคำกล่าวที่ว่า “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่หญิงชาวอีสานจะใช้เวลาว่างจากการทำนามาทอผ้าไว้ใช้ในครัวเรือน นานวันเข้าก็เกิดเป็นเอกลักษณ์ของลวดลายและสีสันของแต่ละท้องถิ่น
น่าเสียดายที่เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนไป วัฒนธรรมการทอผ้าก็เริ่มสูญหาย ลายผ้าดั้งเดิมหาคนทอเป็นยาก เช่นเดียวกับการทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ในปี พ.ศ. 2543 จึงมีการริเริ่มสร้างสรรค์ “ผ้ากาบบัว” (Kaab Bua) ที่รวบรวมเอาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าพื้นเมืองอุบลมารวมไว้หลายชนิด ได้แก่ ซิ่นทิว มับไม มัดหมี่ ผ้าขิด หรือจก ซึ่งผู้ที่คิดค้นผ้ากาบบัว คือ มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พ.ศ. 2564 ชาวอุบลราชธานี ผู้ก่อตั้งบ้านคำปุน และพิพิธภัณฑ์คำปุน Ban Khampun & Khampun Museum