• Skip to primary navigation
  • Skip to main content
  • Skip to footer

Sawasdee

Sawasdee
  • Inspiration
  • Food & Drink
  • บทความภาษาไทย
  • Download Pocket Guide
  • Toggle Search
  • Instagram Facebook

บทความภาษาไทย

ท่องเที่ยวไปบนเส้นทางแห่งศรัทธาในเดลี

ศาสนาเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่มากที่อินเดีย วิถีชีวิตของชาวอินเดียล้วนผูกพันกับศาสนา และความเชื่อเหล่านั้นล้วนสะท้อนออกมาผ่านสถาปัตยกรรมตามวัดและวิหารต่างๆ

Shutterstock

November 7, 2022

Text: Chidsupang Chaiwiroj

4 min read

Facebook LinkedIn Line Viber Pinterest Twitter Email

กล่าวได้ว่าสโลแกน “Incredible India” น่าจะเป็นสโลแกนที่ไม่ได้เกินจริงเลย ดูอย่างเรื่องศาสนาเป็นต้น เพราะคงไม่มีประเทศไหนที่ศาสนาอยู่ร่วมกันมากมายมากกว่าประเทศอินเดียอีกแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเทศกาลทางศาสนาที่มีมากกว่า 100 เทศกาลต่อปี หรือเฉลี่ยราวๆ 8 เทศกาลต่อเดือนเลยทีเดียว

อินเดีย คือประเทศที่ถือเป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนา ตั้งแต่พุทธศาสนา ศาสนาซิกข์ ศาสนาเชน และศาสนาฮินดูที่เป็นที่นับถือของประชากรกว่า 79.8% ของประเทศ ศาสนาฮินดูนับเป็นศาสนาที่มีความเปิดกว้างในด้านความเชื่อ เพราะแม้จะเชื่อในพลังธรรมชาติสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว คือ พรหมัน (Brahman) แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้นับถือได้เลือกนับถือเทพองค์อื่นๆ หลายร้อยล้านองค์ที่เป็นเหมือนองค์จำแลงของเทพสูงสุดเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นเทพ 3 องค์หลักซึ่งเรียกว่าพระตรีมูรติ คือพระพรหม ผู้สร้าง พระนารายณ์ ผู้ปกปักษ์รักษา และพระศิวะ ผู้ทำลาย ส่วนตรีเทวีที่เป็นพระชายาของเทพทั้งสาม ก็ได้แก่ พระสรัสวดี ชายาของ
พระพรหม เป็นตัวแทนของปัญญาและความรู้ พระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ เป็นตัวแทนของโชคลาภ การเงินและความมั่งคั่ง ส่วนพระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เป็นตัวแทนของความสำเร็จในด้านหน้าที่การงานและอำนาจ นอกจากนี้ยังมีเทพองค์อื่นๆ ที่คนไทยอาจจะคุ้นเคย เช่น พระพิฆเนศ เทพแห่งปราชญ์ ความสำเร็จ และการก้าวผ่านอุปสรรคขวากหนาม การเริ่มต้นใหม่ และหนุมาน เทพวานรซึ่งเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์และความอุทิศตน เป็นต้น

รูปปั้นพระพิฆเนศที่สามารถเช่าได้ตามเทศกาลทางศาสนาฮินดู Shutterstock

ความเปิดกว้างของศาสนาฮินดูยังอยู่ที่วิธีการเข้าถึงพระเจ้าสูงสุด โดยเปิดให้ผู้นับถือแต่ละคนเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยวิธีของตนเอง ที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ ผู้ศรัทธาสามารถบูชา (puja) เทพที่ตนนับถือได้ที่บ้านด้วยการจุดเทียนหรือถวายดอกไม้ให้กับเทวรูป หรือถ้าต้องการสมาธิหรือต้องการพบกับผู้ที่มีจิตศรัทธาคล้ายตน ก็อาจจะไปถวายเครื่องบูชาและสวดภาวนาร่วมกับผู้อื่นที่วัด (mandir) ได้เช่นกัน วัดในศาสนาฮินดูคือบ้านของเทพ ที่จะมีพระมาสวดภาวนา อ่านคัมภีร์ออกเสียง และถวายเครื่องบูชาแก่เทพ จากนั้นก็เป็นตัวแทนของเทพในการมอบเครื่องบูชาบางส่วนคืนให้แก่ผู้ศรัทธาเพื่อให้พรแทนองค์เทพ คนที่นำอาหารมาถวายก็อาจได้รับอาหารบางส่วนคืนมารับประทาน หรือคนที่ถวายดอกไม้ก็อาจได้รับดอกไม้กลับมาประดับผม เป็นต้น นอกจากนี้ วัดยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อมีเทศกาลอีกด้วย โดยส่วนใหญ่แล้ว วัดแต่ละแห่งจะบูชาเทพแตกต่างกันไป

ส่วนชาวฮินดูเองมีวิธีการเลือกบูชาเทพอย่างไรนั้น เหตุผลอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนก็เลือกนับถือเทพตามที่สมาชิกในครอบครัวตนเองนับถือ บางคนอาจจะนับถือเทพที่เป็นองค์อุปถัมภ์อาชีพของตน หลายคนเลือกบูชาองค์เทพตามสถานการณ์ เช่น บูชาพระพิฆเนศในช่วงสัมภาษณ์งานใหม่ หรือบูชาพระสรัสวดีในวันที่ต้องสอบ เป็นต้น ในขณะที่บางคนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนเลือกเทพ แต่เทพต่างหากที่เลือกพวกเขา

ผู้ศรัทธากำลังรดนมบนรูปปั้นโคที่เป็นพาหนะของพระศิวะ Shutterstock

สำหรับนักท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม เดลีนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสำรวจความศรัทธาของคนท้องถิ่น เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของสถานที่สำคัญทางศาสนามากมาย ทั้งในส่วนของศาสนาฮินดูเองและศาสนาอื่นๆ ด้วย ความเปิดกว้างของศาสนาฮินดูทำให้การยอมรับความแตกต่างทางศาสนาเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ยึดถือ เดลีอาจจะไม่ได้หลอมรวมทุกศาสนาเข้าด้วยกัน แต่ก็เป็นเมืองที่ทุกศาสนามีพื้นที่และขอบเขตของตนเอง ซึ่งคุณสมบัตินี้ก็ทำให้เดลีมีเสน่ห์กลมกล่อมไม่แพ้ที่ไหน
 
ผู้ที่สนใจเรื่องเทพฮินดูอาจลองเดินทางไปชมวัดที่มีชื่อเสียง เช่น Laxmi Narayan Temple หรือ Birla Mandir วัดที่บูชาพระนารายณ์และพระลักษมี ที่อยู่ทางตะวันตกของย่าน Connaught Place ที่โด่งดังเรื่องการบันดาลให้เกิดความสำเร็จและความรุ่งเรืองในชีวิตของผู้บูชา นอกจากองค์เทพแล้ว สถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมในวัดนี้ก็งดงามน่าเยี่ยมชมไม่น้อย

Laxmi Narayan Temple Shutterstock

ส่วนผู้ที่นับถือพระอุมาเทวีอาจไปเยี่ยมชม Chhatarpur Mandir หรือ Shri Aadya Katyayani Shakti Peetham ที่บูชาเทวีกาตยายนี (Katyayani) ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระอุมาเทวี วัดแห่งนี้นับเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอินเดีย อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่สร้างจากหินอ่อนทั้งหมด วัดแห่งนี้จะตกแต่งสวยงามเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลนวราตรี นอกจากที่นี่แล้ว วัดที่บูชาพระอุมาเทวีที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งคือ Gauri Shankar Temple ที่อยู่ในย่านตลาด Chandni Chowk ที่มีเทวรูปของพระศิวะและพระอุมาเทวีให้บูชา เนื่องจากตามความเชื่อของชาวฮินดูแล้ว พระแม่กาลีซึ่งเป็นหนึ่งในร่างอวตารของพระอุมาเทวีนั้นมีพลังในการปกป้องคุ้มครองผู้บูชาจากโรคระบาด วัดที่บูชาพระอุมาเทวีจึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

Chhatarpur Mandir หรือ Shri Aadya Katyayani Shakti Peetham ที่บูชาเทวีกาตยายนี Shutterstock

แต่ถ้าจะมีตำแหน่งวัดที่สะดุดตาที่สุด คงต้องยกให้ Sankat Mochan Dham ที่อยู่ใกล้กับสถานีรถใต้ดิน Jhandewalan ที่โดดเด่นด้วยรูปปั้นหนุมานที่สูง 108 ฟุต นับเป็นรูปปั้นหนุมานที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก โดยทางเข้านั้นสร้างเป็นปากอสูรที่เปิดกว้างซึ่งสิ้นชีพอยู่แทบเท้าของหนุมานที่เป็นตัวแทนของความอุทิศตน พลังใจและการฟันฝ่าอุปสรรค

วัดนี้มีรูปปั้นหนุมานที่สูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

วัดอีกสองแห่งที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมคือ Swaminarayan Akshardham ที่
กินเนสส์บุ๊คยกให้เป็นวัดฮินดูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีพื้นที่กว่า 8,000 ตารางเมตร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อบูชาสวามีนารายัณ นักพรตและผู้นำด้านจิตวิญญาณ อาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมฮินดูแบบดั้งเดิมสร้างขึ้นจากหินอ่อนหินสีชมพูจาก
ราชสถานที่แกะสลักกว่า 3 แสนก้อน สะท้อนถึงทักษะชั้นสูงของช่างฝีมือท้องถิ่นได้อย่างสวยงาม

Swaminarayan Akshardham วัดที่กินเนสส์บุ๊คยกให้เป็นวัดฮินดูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก Shutterstock

ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือ Lotus Temple สักการสถานบาไฮ (Bahá’í Houses of Worship) ที่ไม่ได้บูชาเทพองค์ใดเป็นพิเศษ แต่เป็นเหมือนสถานที่สวดภาวนาสำหรับทุกศาสนา ตามหลักปรัชญาของศาสนาบาไฮที่ให้ความสำคัญกับทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ตัวอาคารสร้างเป็นรูปดอกบัวตูมสีขาวด้วยหินอ่อน ส่วนด้านในนั้นเป็นห้องโถงใหญ่ที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้มาสวดภาวนาถึงพระเจ้าในศาสนาของตน ซึ่งจะสวดในภาษาใดก็ได้ จะท่องคัมภีร์ของศาสนาใดก็ได้เช่นกัน ซึ่งคงมีสักการสถานไม่กี่แห่งในโลกที่มีบรรยากาศเช่นนี้

สักการสถานบาไฮ (Bahá’í Houses of Worship) ที่ไม่ได้บูชาเทพองค์ใดเป็นพิเศษ Shutterstock

ด้วยศรัทธาและความเชื่อเรื่องโชคลางที่แพร่หลายในไทยทำให้วัดวาอารามของเดลีเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเยี่ยมเยือน แต่อย่าลืมว่าได้ชื่อว่าเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว วัดส่วนใหญ่มักมีกติกามารยาทที่ต้องปฏิบัติตาม เช่น ผู้มาเยือนควรแต่งกายเรียบร้อย หลีกเลี่ยงเสื้อแขนกุดและกางเกงขาสั้น ถอดรองเท้าก่อนเข้าตัวอาคาร และสังเกตป้ายห้ามถ่ายภาพให้ดี ส่วนของบูชานั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามเทพแต่ละองค์ แต่ถ้าไม่ได้ตั้งใจจะบูชาเทพองค์ใดเป็นพิเศษ ก็อาจจะซื้อดอกไม้หรือผลไม้ทั่วไปติดมือไปไหว้ก็ได้เช่นกัน

ร่วมออกเดินทางไปบนเส้นทางแห่งศรัทธาในเดลีกับการบินไทย จองเที่ยวบินได้เลยที่การบินไทย

Latest Stories

Heritage Trail

6 old-world marvels and UNESCO Heritage Sites to check out in Yogyakarta

Globetrotter

Three days in Stockholm and how to spend them

Thai Escapes

The best waterfront delights in Surat Thani

Footer

About Us

  • Our website
  • Advertise with us
  • User agreement
  • Terms and conditions
  • Privacy policy
  • Cookie policy
Thai Airways

Social

  • Facebook
  • Instagram

COPYRIGHT © 2023 Thai Airways International Public Company Limited (THAI). All rights reserved.

A Star Alliance Member
Sawasdee
  • Inspiration
  • Food & Drink
  • บทความภาษาไทย
  • Download Pocket Guide
  • Toggle Search
  • Instagram Facebook
BOOK FLIGHTS NOW

We use cookies to offer you a better experience, analyze site traffic and serve targeted advertisements. By continuing to use this site you agree to the use of cookies in accordance with our Cookie Policy.