กล่าวได้ว่าสโลแกน “Incredible India” น่าจะเป็นสโลแกนที่ไม่ได้เกินจริงเลย ดูอย่างเรื่องศาสนาเป็นต้น เพราะคงไม่มีประเทศไหนที่ศาสนาอยู่ร่วมกันมากมายมากกว่าประเทศอินเดียอีกแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเทศกาลทางศาสนาที่มีมากกว่า 100 เทศกาลต่อปี หรือเฉลี่ยราวๆ 8 เทศกาลต่อเดือนเลยทีเดียว
อินเดีย คือประเทศที่ถือเป็นต้นกำเนิดของศาสนาหลายศาสนา ตั้งแต่พุทธศาสนา ศาสนาซิกข์ ศาสนาเชน และศาสนาฮินดูที่เป็นที่นับถือของประชากรกว่า 79.8% ของประเทศ ศาสนาฮินดูนับเป็นศาสนาที่มีความเปิดกว้างในด้านความเชื่อ เพราะแม้จะเชื่อในพลังธรรมชาติสูงสุดเพียงหนึ่งเดียว คือ พรหมัน (Brahman) แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้นับถือได้เลือกนับถือเทพองค์อื่นๆ หลายร้อยล้านองค์ที่เป็นเหมือนองค์จำแลงของเทพสูงสุดเพื่อทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นเทพ 3 องค์หลักซึ่งเรียกว่าพระตรีมูรติ คือพระพรหม ผู้สร้าง พระนารายณ์ ผู้ปกปักษ์รักษา และพระศิวะ ผู้ทำลาย ส่วนตรีเทวีที่เป็นพระชายาของเทพทั้งสาม ก็ได้แก่ พระสรัสวดี ชายาของ
พระพรหม เป็นตัวแทนของปัญญาและความรู้ พระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ เป็นตัวแทนของโชคลาภ การเงินและความมั่งคั่ง ส่วนพระอุมาเทวี ชายาของพระศิวะ เป็นตัวแทนของความสำเร็จในด้านหน้าที่การงานและอำนาจ นอกจากนี้ยังมีเทพองค์อื่นๆ ที่คนไทยอาจจะคุ้นเคย เช่น พระพิฆเนศ เทพแห่งปราชญ์ ความสำเร็จ และการก้าวผ่านอุปสรรคขวากหนาม การเริ่มต้นใหม่ และหนุมาน เทพวานรซึ่งเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์และความอุทิศตน เป็นต้น
ความเปิดกว้างของศาสนาฮินดูยังอยู่ที่วิธีการเข้าถึงพระเจ้าสูงสุด โดยเปิดให้ผู้นับถือแต่ละคนเข้าถึงพระเจ้าได้ด้วยวิธีของตนเอง ที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ ผู้ศรัทธาสามารถบูชา (puja) เทพที่ตนนับถือได้ที่บ้านด้วยการจุดเทียนหรือถวายดอกไม้ให้กับเทวรูป หรือถ้าต้องการสมาธิหรือต้องการพบกับผู้ที่มีจิตศรัทธาคล้ายตน ก็อาจจะไปถวายเครื่องบูชาและสวดภาวนาร่วมกับผู้อื่นที่วัด (mandir) ได้เช่นกัน วัดในศาสนาฮินดูคือบ้านของเทพ ที่จะมีพระมาสวดภาวนา อ่านคัมภีร์ออกเสียง และถวายเครื่องบูชาแก่เทพ จากนั้นก็เป็นตัวแทนของเทพในการมอบเครื่องบูชาบางส่วนคืนให้แก่ผู้ศรัทธาเพื่อให้พรแทนองค์เทพ คนที่นำอาหารมาถวายก็อาจได้รับอาหารบางส่วนคืนมารับประทาน หรือคนที่ถวายดอกไม้ก็อาจได้รับดอกไม้กลับมาประดับผม เป็นต้น นอกจากนี้ วัดยังเป็นสถานที่สำคัญสำหรับทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อมีเทศกาลอีกด้วย โดยส่วนใหญ่แล้ว วัดแต่ละแห่งจะบูชาเทพแตกต่างกันไป
ส่วนชาวฮินดูเองมีวิธีการเลือกบูชาเทพอย่างไรนั้น เหตุผลอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนก็เลือกนับถือเทพตามที่สมาชิกในครอบครัวตนเองนับถือ บางคนอาจจะนับถือเทพที่เป็นองค์อุปถัมภ์อาชีพของตน หลายคนเลือกบูชาองค์เทพตามสถานการณ์ เช่น บูชาพระพิฆเนศในช่วงสัมภาษณ์งานใหม่ หรือบูชาพระสรัสวดีในวันที่ต้องสอบ เป็นต้น ในขณะที่บางคนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนเลือกเทพ แต่เทพต่างหากที่เลือกพวกเขา