ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเกลือจากเหนือจรดใต้ เรามีเกลือภูเขาจากจังหวัดน่าน เรามีเกลือจากผืนแผ่นดินที่เรียกว่าเกลือดินหรือเกลือสินเธาว์จากพื้นที่อีสาน เรามีเกลือจากน้ำทะเลที่เรียกว่าเกลือสมุทรจากเพชรบุรี สมุทรสาคร รวมถึงอีกหลายจังหวัดรอบอ่าวไทยและเรามีเกลือจากดินแดนปัตตานีที่รู้จักกันในนามของเกลือหวานหรือ Garam Manis ในภาษามาลายู คำว่า Garam Manis นั้นแปลได้ตรงตัว คำว่า Garam หรือ “การัม” นั้นแปลว่าเกลือ ส่วนคำว่า Manis หรือ “มานิส” นั้นแปลว่าหวานหรือรสหวาน
จากถ้อยคำดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่าการเรียกเกลือที่ถูกผลิตขึ้นในปัตตานีว่าเกลือหวานนั้นน่าจะเป็นการเรียกขานตามคำแปลจากภาษามาลายู ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าเกลือหวานนั้นเพราะเกลือปัตตานีให้รสเค็มอันเจือจางกว่าเกลือสมุทรจากแหล่งอื่น แม้ว่าจะใช้วิธีการทำเกลือผ่านระบบนาเกลือเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เป็นเพราะน้ำทะเลในบริเวณที่ทำนาเกลือปัตตานีนั้นถูกทำให้เจือจางลงจากสายน้ำที่มาจากแม่น้ำปัตตานี
จุดแรกเริ่มของเกลือปัตตานี
ในอดีตนั้นเกลือปัตตานีไม่ได้ผลิตโดยวิธีทำนาเกลือ หากแต่ใช้การต้มและเคี่ยวจากน้ำทะเล หลักฐานเก่าแก่ที่ยืนยันในเรื่องนี้พบอยู่ในจดหมายเหตุการเดินทางของ “หวังต้าหยวน” (Wang Dayuan) ผู้เป็นขุนนางในสมัยราชวงศ์หยวน บันทึกนั้นมีชื่อว่า เตาอี๋จื้อเลวี่ย (Daoyi Zhilüe) หรือบันทึกย่อเกี่ยวกับชนเผ่าชาวเกาะ ซึ่งกล่าวถึงการเดินทางโดยทางเรือของเขาในแถบทะเลใต้ของอาณาจักรจีนในช่วงปี พ.ศ. 1880-1882 (1337-1339 BC) หวังต้าหยวนได้กล่าวถึงอาณาจักรลังกาสุกะอันเป็นที่ตั้งของปัตตานีในปัจจุบันว่า “ที่ตั้งของอาณาจักรเป็นแนวเทือกเขามีที่ราบภายใน ตัวเมืองตั้งอยู่ตามแนวเชิงเขา มองดูเหมือนมดหรือปลวก อากาศอบอุ่นพอประมาณ ชาวเมืองนั้นรู้จักเคี่ยวน้ำทะเลเพื่อให้ได้เกลือมาบริโภค”
การเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเกลือจากการเคี่ยวน้ำทะเลมาสู่การทำนาเกลือในปัตตานีนั้นไม่มีหลักฐานระบุวันเวลาที่ชัดเจน แต่เชื่อได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังจากมีการริเริ่มทำนาเกลือเป็นครั้งแรกในสมัยของอยุธยาตอนต้นอันปรากฏเป็นหลักฐานในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ที่กล่าวถึงการทำนาเกลือที่เพชรบุรีว่าถูกริเริ่มและทำจนเป็นผลสำเร็จโดย “พระพนมทะเล” ขุนนางราชสำนักอยุธยาในสมัยของพระอินทราธิราช (พ.ศ. 1952-1967) หลังจากนั้นปัตตานีซึ่งมีสถานภาพเป็นรัฐปัตตานีในขณะนั้นคงได้รับอิทธิพลการทำนาเกลือจากเพชรบุรี จากหนังสือตำนานเมืองปัตตานี (Serajah Kerajaan Melayu Pattani) ที่เขียนโดย อิบรอฮิม ชุกรี มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการทำนาเกลือในสมัยของรายอฮิเยาและรายอบีรู ( พ.ศ. 2127-2159 ) ซึ่งอยู่หลังสมัยของพระอินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาราวหนึ่งร้อยปีกว่าไว้ว่า